Sichon Heritage
รายละเอียดสถานที่
/ รายละเอียดสถานที่ / เลียงร่อนแร่
เลียงร่อนแร่

รายละเอียด

เลียง” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับร่อนแร่ ทำด้วยไม้เนื้อเหนียวและมีน้ำหนักเบา ตัวเลียงมีรูปทรงกลมก้นโค้งคล้ายกระทะแต่เลียงมีก้นที่ตื้นกว่า ขนาดของเลียงมีเส้น ผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 70-76 เซนติเมตร ท้องลึกประมาณ 7-8 เซนติเมตร ปัจจุบันยังมีการทำขายอยู่ในราคาใบละ 800-1,000 บาท สำหรับเลี้ยงชิ้นนี้เป็นของบิดานายนุศาสตร์ สัตยานุมัฎฐ์ ถูกใช้ร่อนแร่ดีบุก ณ ตำบลฉลอง


อายุสมัย/ยุค
พุทธศตวรรษที่ 25 (พ.ศ.2401-2500)

ที่อยู่
ตำบล เขาน้อย พิกัด (8.943420,99.816600)

สถานะ
อยู่ในความดูแลของชาวบ้าน/วัด/ชุมชน

ผู้ครอบครอง/ผู้ดูแล
นายนุศาสต์ สัตยานุมัฏฐ์

ศาสนา
ไม่ระบุ

เรื่องเล่าประเพณี

"จุดเริ่มต้นของการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ ต. ฉลอง อ. สิชล จ. นครศรีธรรมราช"

บริษัทแรกที่เข้ามาสัมปทานเหมืองแร่ คือ บริษัทราดตรุดเบซินทินเดร็คยิงโนไลเอบิลลิตี้ (Ratrut Basin Tin Dreding, No Liability) วันที่เริ่มทำเหมืองแร่ คือ วันที่ 22 เดือนกรกฎาคมคม พ.ศ. 2471 รัศมีของการทำเหมืองแร่คือ 1,000 กว่าไร ใช้เรือขุดในการขุดแร่และขุดตามลำคลอง เพราะไม่มีรถขุดหน้าดินอย่างเช่นปัจจุบันนี้ต้องขุดตามแนวลำคลองเท่านั้น ไม่สามารถขุดที่หน้าดินสูง ๆ เรือขุดจะถูกบรรทุกมาทางอ่าวไทย เข้ามายังคลองท่าควาย ก่อนการทำเหมืองบริษัททำการสร้างและเดินรถไฟจากปากคลองปากน้ำสิชลไปยังเหมืองแร่ของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในหมู่ที่ 10 หมู่บ้านเขาใหญ่ ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จีงหวัดนครศรีธรรมราช ระยะทางทั้งสิ้น 25.300 กิโลเมตร เส้นทางรถไฟดังกล่าวได้ระบุว่าเป็น "รถรางกรมโลหกิจ" มีกำหนดหมดอนุญาตให้บริษัทใช้ได้ในระยะเวลา 25 ปี เมื่อสร้างรางรถไฟเสร็จได้ลำเลียงเครื่องจักรเพื่อไปทำเรือขุดและจัดตั้งสำนักงานที่เรียกว่า “ห้าง” ไว้ ณ ที่แห่งนี้ และกิจการก็ได้ดำเนินไปภายใต้การนำของอังกฤษ คนงานที่เข้ามาทำเหมืองในยุคนี้มาจาากประเทศมาเลเซียถึง 80% (เป็นคนมาเลเซีนเชื้อสายจีน) คนงานเหล่านี้เคยทำเหมืองแร่อยู่ที่มาเลเซียแต่เหมืองแร่ล่มจึงเดินทางเข้ามาทำเหมืองแร่ ณ ที่แห่งนี้ นอกจากนั้นเป็นคนงานของอังกฤษ ส่วนผู้รักษาความปลอดภัย (แขกยาม) จะต้องมาจากประเทศอินเดียหรือบังคลาเทศเท่านั้น ขณะนั้นมีเสียงร่ำลือว่าเงินสะพัดมาก มีการใช้เงินดอลล่าด้วยเช่นกัน เมื่อถามถึงการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนงานพบว่า ชาวมาเลเซียได้สร้างที่พักในเหมือง ขณะที่ชาวจีนได้เข้ามาทำาชีพค้าขายอยู่ในเหมืองเช่นกัน ซึ่งกลุ่มคนจีนส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณสำนักเนียมจนกระทั่งปัจจุบัน ยุคนี้มีแรงงานนับพันคน (นอกจากคนงานในเมือง วิถีชีวิตของคนทั่วไปก็มีการร่อนแร่ด้วยเช่นกัน เราจะพบว่าแทบทุกบ้านจะต้องมี “เลียง” ไว้สำหรับร่อนแร่ ซึ่งทำควบคู่กับการทำนา)

นายนุศาสตร์ สัตยานุมัฎฐ์เล่าว่า “บิดาของเขาเรียนจบชั้นประถมศึกษาที่ 4 มีโอกาสเข้าทำงานในเหมืองแร่ในตำแหน่งเสมียน มีหน้าที่คอยเช็กคนงานในเหมือง สามารถพูดได้ 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษและภาษามลายู แต่ไม่สามารถเขียนสื่อสารได้” หลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 บิดาของคุณนุศาสตร์จึงหยุดทำงานในเหมือง และเสียชีวิตในวัย 87 ปี 

กระทั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษต้องออกจากประเทศไทยจึงมอบบริษัทเหมืองแร่ให้ นายชม เพชรชู กำนัน ต. ฉลอง (ในขณะนั้น) เป็นผู้ดูแลประทานบัตรเหมืองแต่ไม่มีอำนาจในการทำเหมืองแร่ ห้างที่เป็นสำนักงานยังคงอยู่จนปัจจุบันเพราะเอกสารสิทธ์ยังเป็นของนายชม เพรชชู แม้ว่าปัจจุบันจะใช้เป็นพื้นที่ปลูกยางพาราแล้วก็ตาม หลังจากบ้านเมืองสงบจากภาวะสงครามได้ 6-7 ปี กลุ่มทุนจีนได้ขอประทานบัตรเหมืองแร่ต่อภายใต้การนำของ “บริษัทนิวเฉียงพร้า”  ซึ่งมี “นายสงวน สิทธิอำนวย” เป็นเจ้าของบริษัท เดิมที่นายสงวน สิทธิอำนวยเคยทำเหมืองแร่ที่ห้วยมุด อ. นาสาร จ. สุราษฎร์ธานีมาก่อน กระทั่งหมดประทานบัตรและพื้นที่ในการขุดแร่ก็หมดลงจึงมาขอทำประทานบัตรที่นี้ ขณะเดียวกันนายสงวน สิทธิอำนวยยังได้ทำการบุกเบิกเส้นทางจากบ้านสำนักเนียมไปยังห้วยมุด โดยการใช้รถแบคโฮ (ขณะนั้นนายสงวน สิทธิอำนวยมีรถแบคโฮตัวแรกในพื้นที่) ทำทางมาเรื่อย ๆ โดยใช้การไหลของกระแสน้ำเป็นตัวนำทาง เนื่องจากสมัยนั้นยังคงเป็นป่า เป็นเขาการดูกระแสน้ำไหลจึงเป็นเหมือนเข็มทิศไม่ให้หลงทาง ในยุคที่นายสงวน สิทธิอำนวยได้รับประทานบัตรให้ทำเหมืองเขาไม่มีรถขุดตักหน้าหลัง (รถแบคโฮ) สามารถตักหน้าดินที่มีความสูงเกิน 30 เมตรได้ ต้องทำเฉพาะพื้นที่หน้าดินต่ำเท่านั้นเพราะมีแค่รถแทรกเตอร์ คนงานที่ทำงานในเหมืองจะเป็นคนในพื้นที่แต่ขณะที่หัวหน้างานเขาจะจ้างคนนอกพื้นที่ เช่น ช่างเชื่อม หรือช่างอื่น ๆ คนงานประมาณ 100 กว่าคน

หลังจากนายสงวน สิทธิอำนวยหมดความสามารถที่จะทำเหมืองแล้วจึงขายต่อให้กับ “บริษัทเซียร่าไมนิ่ง” (เป็นบริษัทของออสเตรเลีย คุณนุศาสตร์เองได้ทำงานในบริษัทนี้อยู่ 2 เดือน) มีนายจอร์นเป็นผู้ดูแลเหมือง ดำเนินกิจการประมาณ 10-20 ปี กิจการเหมืองภายใต้การนำของออสเตรเลียดำเนินอยู่ได้ไม่นานก็ต้องถอยไปเนื่องจากรถที่ใช้ขุดไม่มีกำลังพอที่จะขุดหน้าดินที่สูงเกิน 30 เมตรได้ ขณะนั้นคนงานในเหมืองคือคนในพื้นที่ตรงนี้ แต่ถ้าเป็นหัวหน้างานจะเป็นคนนอกพื้นที่เช่นเดียวกับยุคของนายสงวน สิทธิอำนวย

เมื่อ “บริษัทเซียร่าไมนิ่ง” ไม่สามารถดำเนินกิจการเหมืองแร่ได้อีกแล้ว “บริษัทวีระประดิษฐ์” จึงขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ต่อ (บริษัทนี้เป็นของคนไทย ในจังหวัดภูเก็ต) ขณะนั้นเจ้าของบริษัทรู้จักกันในฉายา “ฮิตเลอร์” เพราะเผด็จการและจริงจัง การทำเหมืองในยุคนี้รถแบคโฮมีประสิทธิภาพมากขึ้นสามารถตักดินที่มีหน้าดินสูงได้ดีมาก ฮิตเลอร์สามารถทำกำไรมหาศาลจากเหมืองแห่งนี้ เขาขุดแร่จนเกลี้ยง อย่างไรก็ดีคุณนุศาสตร์เล่าว่า “การตื่นตัวของคนในยุคปัจจุบันเป็นอุปสรรคอย่างมากในการทำเหมืองแร่ เพราะเขาเหล่านั้นตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น”

ลักษณะของการทำเหมิองแร่ที่ ต. ฉลอง อ. สิชล จ. นครศรีธรรมราช

แร่ที่พบในพื้นที่ ต. ฉลอง อ. สิชล จ. นครศรีธรรมราช คือ “แร่ดีบุก” และ “แร่วุลแฟรม” แต่แร่ดีบุกจะมีค่ากว่าแร่วุลแฟร เพราะทำไปทำได้หลายอย่าง ปกติแร่ที่พบจะมี 2 แหล่ง คือ ลานแร่และสายแร่ สำหรับในพื้นที่แห่งนี้จะเป็นแบบ “ลานแร่” ขนาดของแร่ที่ได้จะเป็นขนาดไม่ใหญ่ ฝังตัวอยู่ในทรายตามลำน้ำ ใช้วิธีการร่อนแร่จึงจะได้แร่มา (แหล่งแร่ที่เกิดจากสายแร่ผุพังและถูกพัดพาโดยกระบวนการทางน้ำ) ส่วนสายแร่จะมีขนาดใหญ่เป็นทางยาว ใหญ่ อาจต้องใช้วิธีการระเบิดเพื่อให้ได้แร่ (สายแร่ส่วนใหญ่เกิดจากการตกตะกอนของแร่จากน้ำร้อนโดยผนังของหินเหย้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ การสะสมตัวของแร่เกิดขึ้นในช่องว่างของหินโดยไม่แทรกเข้าไปในชั้นหินเหย้า จึงสามารถแบ่งแยกขอบเขตของช่องว่างและเนื้อหินเหย้าได้อย่างชัดเจน) สำหรับในพื้นที่สิชลมี 2 บริษัทที่ทำเหมืองแร่แบบสายแร่ คือ เหมืองแร่วรพันธ์ (บ้านสำนักเนียน) และบริษัทแฟร์เบอร์เบอร์ลิน (บ้านยอดเหลือง)

ลักษณะการทำเหมืองแร่ของ ต. ฉลอง จะใช้เรือขุดและระบบสูบแร่ขึ้นไปบนราง ต่อจากนั้นจะมีเครื่องบด (Crusher) ทำการบดหินดินทรายที่ผสมมากับแร่ หลังจากนั้นจะถูกส่งต่อมายังเครื่องปั่น และมาสิ้นสุดที่โต๊ะสำหรับร่อนให้แร่แห้งและแยกแร่ออกพร้อมบรรจุขาย สมัยนั้นขายแบบ 60 กิโลกรัม/หาบ ปริมาณแร่ที่ได้ในแต่ละวันต่ำสุดอยู่ที่ 60 หาบ สูงสุด 100 กว่าหาบ เมื่อได้แร่แล้วผู้จัดการต้องทำการขอโค้วต้าไปยังตัวเมืองนครศรีธรรมราช และแร่เหล่านี้จะถูกขายต่อให้กับ “บริษัทไทยซาโก้” ซึ่งเป็นโรงถลุงแร่โรงเดียวในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ จ. ภูเก็ต แร่จากทั่วประเทศจะถูกลำเลียงมาถลุงที่นี้ทั้งสิ้น การลำเลียงแร่ไปยังบริษัทไทยซาโก้ ถูกกำหนดเส้นทางมาอย่างเคร่งครัดว่า ต้องผ่านเส้นทางใดบ้างเพื่อป้องกันการโจรกรรมแร่ ถ้าออกนอกเส้นทางจะถูกโดนดำเนินคดีทัน คุณนุศาสตร์เล่าต่อว่า แร่บางส่วนถูกลักลอบนำไปขายยังโรงถลุงแร่ที่ประเทศสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน



ผู้ให้ข้อมูล (ชื่อ-สกุล)
นายนุศาสต์ สัตยานุมัฏฐ์

การติดต่อผู้ให้ข้อมูล
นายนุศาสต์ สัตยานุมัฏฐ์ (0862813528)

วันที่เก็บข้อมูล
10 มิ.ย. 2566

เอกสารอ้างอิง
กัมพล มณีประพันธ์ และสงบ ส่งเมือง. (2529). “เหมืองแร่ในภาคใต้.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. 2529 เล่ม 10. กรุงเทพ: อมรินทร์การพิมพ์

แผนที่

ภาพที่เกี่ยวข้อง

324 views
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ไม่ปรากฏเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง