Sichon Heritage
รายละเอียดสถานที่
/ รายละเอียดสถานที่ / เรือนเก่าอดีตเจ้าเมืองอลอง (ขุนทิพย์ขุนทิพย์พิมลแห่งแขวงสุชลฉลอง)
เรือนเก่าอดีตเจ้าเมืองอลอง (ขุนทิพย์ขุนทิพย์พิมลแห่งแขวงสุชลฉลอง)

รายละเอียด

ปัจจุบันเรือนเก่าหลังนี้หลงเหลือแค่ตอเสาที่สร้างจากไม้แกนขี้เหล็กทั้งต้น ชิ้นส่วนอื่น ๆ ของเรือนถูกรื้อไปสร้างบ้านหลังใหม่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ตั้งเรือนเก่าของขุนทิพย์


อายุสมัย/ยุค
พุทธศตวรรษที่ 25 (พ.ศ.2401-2500)

ที่อยู่
หมูที่ 14 ตำบล ทุ่งปรัง พิกัด (8.975200,99.869600)

สถานะ
อยู่ในความดูแลของชาวบ้าน/วัด/ชุมชน

ผู้ครอบครอง/ผู้ดูแล
นางสากร อ๋องผู้ดี

เรื่องเล่าที่เกี่ยวข้อง

1. เรื่องเล่าเกี่ยวกับเรือนขุนทิพย์พิมล เหลนของขุนทิพย์เล่าว่า ครั้งยังเด็กยังคงเห็นเสาบ้านของขุนทิพย์พิมลหลงเหลืออยู่ เป็นเสาไม้แกนขี้เหล็กทั้งแท่งฝังลงในดิน มีชานบ้านออกมา เดิมที่บ้านของขุนทิพย์พิมลเคยถูกใช้เพื่อตัดสินคดีความ ถ้าผู้กระทำผิดมีความผิดมากจะถูกนำมามัดตากแดดเพื่อรอส่งทางการต่อไป ถ้าโทษไม่หนักเจ้าเมืองจะเป็นผู้ลงโทษด้วยตัวเอง เช่น เฆี่ยน ตี ตอกหัวเล็บ เป็นต้น และเรือนทาสจะอยู่รอบ ๆ เรือนขุนทิพย์พิมล พื้นที่รวมทั้งบ้านขุนทิพย์พิมลและเรือนทาสกว้างขวางมาก นางสากร อ๋องผู้ดีเล่าให้ฟังเกี่ยวกับความฝันที่มีต่อเรือนเก่าขิงขุนทิพย์พิมลว่า “มีผู้หญิงแก่ ผิดดำ ไว้ผมทรงผู้ชายโบราณ (ทรงจ้อน) นุ่งผ้าโจงกระเบน เอาผ้าพาดบ่าไม่ใส่เสื้อบอกยายสากรว่า ให้ไปเอาของดีที่อยู่หน้าบ้านขุนทิพย์พิมล “มึงไปเอาสิอีตา กูขี้เกียจเฝ้าแล้ว อยู่ตรงนั้นแหละไปเอาสิ” คือคำพูดของหญิงคนนั้น ต่อมานางสากร อ๋องผู้ดีได้นำรถไถไปไถที่บริเวณเรือนเก่าของขุนทิพย์พิมลเพื่อปลูกเงาะ สิ่งที่พบในดินคือเครื่องถ้วยชามลายครามเยอะแยะแต่แตกเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ถ้ายชามเหล่านี้อยู่ใต้ต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกตั้งแต่ครั้งก่อน (อยู่ทางทิศเหนือของบ้าน) และยังวัตถุมงและถ้วขชามถูกฝังไว้ตามทิศต่าง ๆ ของบ้านอีกด้วย


2. "เล่าเรื่องพลายจำเริญ ช้างคู่บุญขุนทิพย์พิมล" พลายจำเริญ คือช้างแสนรู้เชือกหนึ่ง เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วเป็นลูกของพังหงส์ เป็นช้างของเจ้าพระยานครน้อย เมื่อเจ้าพระยาเจ้านครน้อยถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2382 พระเสน่หามนตรี (น้อยกลาง) ผู้เป็นบุตร ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) เมื่อปี พ.ศ. 2384 พังหงส์ให้กำเนิดพลายน้อย ณ สถานที่เลี้ยงช้าง บริเวณวัดรงช้าง (ขณะนี้คือบริเวณบ้านพักศึกษาธิการจังหวัด) เมื่อวันอังคาร เดือนห้าขึ้นเก้าค่ำ ปีขาล พ.ศ. 2382 เจ้าพลายน้อย มีลักษณะเป็นช้างมงคล เป็นช้างสงคราม มีกายสีดำนิล มีเล็บดำ ขนทวน และมีหางเป็นพวง เป็นชาติช้างเนียมกระพุมปัง ช้างลักษณะเช่นนี้จะต้องนำทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ ขึ้นระวางเป็นช้างหลวง แต่เจ้าพระยาต้องการปิดบังเป็นความลับ แต่ถึงแม้จะปิดบังซ่อนเร้นอย่างไร ความลับก็ยังรั่วไหล ก็หวาดผวาต่อพระอาญา กระทั่งเจ้าพลายน้อยมีอายุได้ปีเศษ จึงมีอุบายให้ถอนขนหางที่เป็นพวง ให้เหมือนช้างเชือกอื่นๆ แล้วเอาน้ำมันเสือทาตรงที่ถอนหางเพื่อไม่ให้งอกมาอีก ช้างพลายน้อยตัวนี้ในระยะแรก ๆ ได้รับการเลี้ยงดูจากควาญทองดี ในกาลต่อมาเจ้าพระยานครน้อยกลาง ได้สั่งให้ขุนทิพย์พิมลจากแขวงสุชลฉลองเอาไปเลี้ยงดู ขณะนั้นพลายน้อยอายุได้ 3 ปี ขุนทิพย์พิมลให้นามว่า "จำเริญ" พลายจำเริญเป็นช้างแสนรู้ ซื้อสัตย์ และหากใครเลี้ยงต้องเป็นคนถือคำสัตย์เป็นที่ตั้ง แม้กระทั่งขุนทิพย์พิมลเองก็จบชีวิตลงเพราะพลายจำเริญ เนื่องจากเคยสาบานว่าจะไม่ดื่มสุรา แต่เหตุเกิดในช่วงพิธีชักพระเดือนห้า ที่วัดถ้ำเทียนถวาย ขุนทิพย์พิมลเกิดเมาสุราทั้งที่เคยสัญญาว่าจะไม่ดื่มสุรา คนที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า แท้จริงแล้วพลายจำเริญไม่คิดจะฆ่าขุนทิพย์พิมล แต่ขุนทิพย์พิมลถูกโยนขึ้น ประกอบกับมีเสียงโห่ร้องยุยงให้พลายจำเริญฆ่าขุนทิพย์พิมล พลายจำเริญจึงใช้งารับขุนทิพย์พิมลขณะที่ถูกโยน หลังขุนทิพย์พิมลล้มลงกิ่งของไม้อินทนินท์หักลงตีขุนทิพย์พิมลอีกทีหนึ่ง หลังเกิดเหตุพลายจำเริญได้ยืนเฝ้าขุนทิพย์พิมลอยู่ถึง 7 วันไม่มีใครสามารถเข้าไปนำศพมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ กระทั้งต้องให้ผู้หญิงคนหนึ่งมาทำพิธีไหว้พลายจำเริญเพื่อขอศพขุนทิพย์พิมลมาประกอบพิธี หลังจากเสร็จพิธีพลายจำเริญได้วิ่งหนีเข้าป่า ไปพบอีกทีที่ อ. ฉวาง จ. นครศรีธรรมราช นางสากร อ๋องผู้ดีเล่าเสริมว่า ช้างพลายจำเริญแสนรู้เหมือนเป็นคน ๆ หนึ่ง ใช้งานได้ทุกอย่างเวลาไปไหนมาไหนก็ใช้พลายจำเริญทั้งสิ้น พอเสร็จงานก็มาล่ามไว้ใต้ต้นกุล มีเรื่องประหลาดอยู่เรื่องหนึ่งคือ ดินบริเวณต้นกุลที่เคยล่ามพลายจำเริญไว้ไม่สามารถปลูกพืชชนิดใดได้อีกเลย


3. ป่าอินทนินท์ก่อนถึงวัดบ่อนนท์ ณ ป่าอินทนินท์มีเกาะที่มีน้ำล้อมรอบ อดีตใช้เป็นที่พักศพของขุนทิพย์พิมล ปัจจุบันโค่นและปลูกปาล์มน้ำมันหมดแล้ว เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ นางสากร อ๋องผู้ดีเล่าว่า ครั้งอดีตในป่านอินทนินท์จะเย็นยะเยือก คล้าย ๆ เป็นวังน้ำเก่า สมัยอดีตเชื่อกันว่า มีงูบองหลา (งูจงอาง) อาศัยอยู่มากจึงไม่มีใครกล้าเข้าไป มีอยู่ครั้งหนึ่งนางสากร อ๋องผู้ดีกับแม่เดินทางไปวัดผ่านป่าอินทนินท์ ระหว่างทางต้องหยุดเดินเพราะเห็นงูบองหลามีหงอน ลักษณะหงอนสีขาว คล้ายหงอนไก่ ตัวมีปล้องสีขาวออกน้ำตาลกำลังเลื้อยอย่างช้า ๆ เข้าไปยังป่าอินทนินท์ ชาวบ้านต่างเชื่อว่า คืองูเจ้าที่ นอกจากนี้ในป่าอินทนินท์แห่งนี้ยังมีตำนานเล่ากันว่า มีผีช้างลากโซ่เดินอยู่ในป่า ครั้งหนึ่งนางสากร อ๋องผู้ดีเดินไปยังโรงข้าวของพี่สาว ต้องเดินผ่านป่าอินทนินท์ ขณะเดินได้ยินเสียงช้างลากโซ่ต่างพากันวิ่งหนีกระเจิง คนเฒ่าคนแก่ต่างสั่งห้ามมิให้ลูกหลานเข้าไปยังป่าอินทนินท์เด็ดขาด


ผู้ให้ข้อมูล (ชื่อ-สกุล)
1. นางสากร อ๋องผู้ดี อายุ 83 ปี 2. นายศุภวัฒน์ อ๋องผู้ดี อายุ 60 ปี

การติดต่อผู้ให้ข้อมูล
นายศุภวัฒน์ อ๋องผู้ดี (0945819141)นายศุภวัฒน์ อ๋องผู้ดี (0945819141)

วันที่เก็บข้อมูล
8 มิ.ย. 2566

เอกสารอ้างอิง

บัณฑิต สุทธมุสิก. (2560). เรื่องราวของ ‘พลายจำเริญ’. วารสารนครทรรศน์. ฉ.20


แผนที่

ภาพที่เกี่ยวข้อง

433 views
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
วัดถ้ำเทียนถวาย
วัดถ้ำเทียนถวายเป็นวัดเก่าแก่ ถูกสร้างโดยวิธีการขว้างด้วยเลฑฑุบาต(เลฑฑุบาตมีความหมายทางตรงว่า “ก้อนดิน อาณาเขตที่สร้างด้วยก้อนดิน” แต่ความหมายทั่วไปคือ “วัดสำคัญในเมืองนั้น ๆ ที่ถูกสร้างโดยการใช้วิธีเลฑฑุบาต ซึ่งครั้งอดีตการสร้างวัดกำหนดว่าวัดนั้น ๆ จะได้อาณาเขตเท่าใดต้องทำพิธีปั้นดินเป็นก้อน ๆ แล้วขว้างออกไปเพื่อให้ได้อาณาเขต การวัดระยะทางเช่นนี้วัดจากคนขว้างจนถึงที่ก้อนดินตกเป็น 1 เลฑฑุบาต เนื่องจากเมื่อก่อนยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินนั้น ๆ จึงใช้วิธีนี้แทน วิธีนี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2) วัดถ้ำเทียนถวายเป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 13 ไร่ อาณาเขต ทิศเหนือจดเขาวัดถ้ำ ทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจดทางสาธารณะ มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 37 ตารางวา อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 14 เมตร ยาว 16 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2428 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กุฏิสงฆ์จำนวน 2 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลัง และตึก 1 หลัง วิหาร กว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2523 ศาลาบำเพ็ญกุศลจำนวน 1 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก นอกจากนี้มีฌาปนสถาน หอระฆัง โรงครัว และกุฏิเจ้าอาวาส ปูชณียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 50 นิ้ว สูง 80 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2545 พระประธานประจำศาลาการเปรียญปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 30 นิ้ว สูง 48 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2527
อ่านเพิ่มเติม
เตาถลุงเหล็ก ณ บ้านสวนพอด้วน

เป็นเตารูปทรงคล้ายจอมปลวก สูง 80 เซนติเมตร กว้างด้านละ 2 เมตร มีช่องเข้าทางทิศตะวันออก วัสดุที่ครอบเตาเป็นตะกรันเหล็ก ลักษณะของเตาที่พบมีความสอดคล้องกับเตาถลุงเหล็กที่พบทางภาคเหนือ สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างทางเหนือสมัยถูกต้อนมายังเมืองอลองเมื่อครั้งอดีต 

อ่านเพิ่มเติม
บ้านไม้กึ่งปูนของตระกูล นพเดช

บ้านหลังนี้เดิมที่เป็นบ้านไม้ยกพื้นสูง ไม้ที่สร้างบ้านถูกรื้อมาจากเรือนหลังเก่าของขุนทิพย์พิมล ปัจจุบันใต้ถุนบ้านปรับปรุงใหม่โดยก่ออิฐถือปูน เมื่อขึ้นไปด้านบนพบกับลานกว้าง ๆ มีห้องอยู่ด้านข้าง 2 ห้อง ห้องด้านข้างสร้างไว้สำหรับลูกสาว ส่วนลานกว้างไว้เป็นที่หลับนอนของลูกชาย ที่บ้านหลังนี้มีภูมิปัญญาการเจาะไม้กระดานไว้นอกชานบ้านให้เป็นช่องเพื่อใช้สำหรับปัสสาวะของผู้หญิงบนเรือน ห้องน้ำแยกออกจากตัวบ้าน มีครัวอยู่ใต้ถุนบ้าน

อ่านเพิ่มเติม