Sichon Heritage
รายละเอียดสถานที่
/ รายละเอียดสถานที่ / เตาถลุงเหล็ก ณ บ้านสวนพอด้วน
เตาถลุงเหล็ก ณ บ้านสวนพอด้วน

รายละเอียด

เป็นเตารูปทรงคล้ายจอมปลวก สูง 80 เซนติเมตร กว้างด้านละ 2 เมตร มีช่องเข้าทางทิศตะวันออก วัสดุที่ครอบเตาเป็นตะกรันเหล็ก ลักษณะของเตาที่พบมีความสอดคล้องกับเตาถลุงเหล็กที่พบทางภาคเหนือ สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างทางเหนือสมัยถูกต้อนมายังเมืองอลองเมื่อครั้งอดีต 


อายุสมัย/ยุค
พุทธศตวรรษที่ 24 (พ.ศ.2301-2400)

ที่อยู่
ตำบล เขาน้อย พิกัด (8.958390,99.804900)

สถานะ
ขุดค้นโดยกรมศิลป์โดยไม่ได้พัฒนาต่อ

ผู้ครอบครอง/ผู้ดูแล
นายธเนตร พงศกรพันธ์

ศาสนา
ไม่ระบุ

เรื่องเล่าที่เกี่ยวข้อง

"การค้นพบเตาถลุงเหล็ก" นายธเนตร พงศกรพันธ์ คือผู้ค้นพบเตาถลุงเหล็กแห่งนี้เพราะจะนำต้นลางสาดไปปลูกบริเวณใกล้ ๆ จอมปลวก เมื่อขุดดินลงไปกลับพบว่า มีลักษณะแข็ง ขุดไปเรื่อย ๆ พบหินสีดำฝังอยู่ เมื่อขุดไปทั่วบริเวณเจอหินลักษณะเช่นนั้นอีก ครั้งแรกที่พบคิดว่า วัตถุที่อยู่ในเตาถลุงเหล็กเป็นหินแต่เมื่อนำไปตรวจสอบกับสำนักศิลปากรที่ 12 พบว่า วัตถุที่พบมีลักษณะเป็นตะกรันที่สะสมกันเป็นก้อนขนาดต่าง ๆ ที่เกิดจากการสะสมของการเผาเหล็ก ณ เตาหลอมถลุงแห่งนี้ ครั้งหนึ่งนายเธนตร พงศกรพันธ์เคยำตะกรันที่พบบริเวณเตาถลุงเหล็กไปให้ “พ่อท่านใจ วัดวังหลวง” ตรวจสอบดูว่าเป็นอย่างไร พ่อท่านใจบอกว่า “ส่วนตัวท่านไม่รู้หรอกแต่จะมีพระอีกรูปหนึ่งที่พอจะให้คำตอบได้” เมื่อพระรูปนั้นมาถึงท่านได้บอกว่า “ประตูของเตาถลุงเหล็กอยู่ทางทิศตะวันออก หินด้านในนั้นเขาจัดเรียงเอาไว้ อย่าขุดสุ่มสี่สุ่มห้า และถ้าเจออะไรล้ำค่าอย่านำมาเป็นของตนเอง” หลังกลับจากวัดนายธเนตร พงศกรพันธ์ได้ทำการขุดเตาถลุงเหล็กในทางทิศตะวันออก ปรากฏว่า มีก้อนหินขนาดใหญ่ปิดอยู่ เมื่อกระทุ้งก้อนหินนั้นจนหลุดออกและขุดเข้าไปก็พบกับประตูของเตาถลุงเหล็กจริง ๆ ซึ่งประตูที่พบมีลักษณะเป็นโพรง (นายธเนตร พงศกรพันธ์ใช้คำว่า “เซิง”) ด้านในเตาพบขี้เถ้าผสมกรวด ข้างในมีลักษณะคล้ายเตาเผาถ่าน ครั้งหนึ่งมีคนเคยมาขอวัตถุเหล่านี้ไปทำมวลสารวัตถุมงคลที่ วัดเทพประธานวนาราม (ข่อยเตี้ย) ตำบลสี่ขีดแต่กลับพบกับเรื่องราวน่าพิศวง เมื่อมีหมอผีท่านหนึ่งทักว่า “วัตถุที่เอามาได้มีการขอเจ้าของเดิมหรือไม่ เพราะตอนนี้มีผู้ชาย รูปร่าง อ้วน ดำ นั่งจ้องอยู่บนเตาถลุงเหล็ก” หลังจากนั้นผู้ที่นำวัตถุไปทำใวลสารต้องกลับมาทำพิธีขอขมาในทันที



ผู้ให้ข้อมูล (ชื่อ-สกุล)

นายธเนตร พงศกรพันธ์ อายุ 73 ปี


การติดต่อผู้ให้ข้อมูล
นายธเนตร พงศกรพันธ์ (0622603623)

วันที่เก็บข้อมูล
10 มิ.ย. 2566

แผนที่

ภาพที่เกี่ยวข้อง

145 views
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
วัดถ้ำเทียนถวาย
วัดถ้ำเทียนถวายเป็นวัดเก่าแก่ ถูกสร้างโดยวิธีการขว้างด้วยเลฑฑุบาต(เลฑฑุบาตมีความหมายทางตรงว่า “ก้อนดิน อาณาเขตที่สร้างด้วยก้อนดิน” แต่ความหมายทั่วไปคือ “วัดสำคัญในเมืองนั้น ๆ ที่ถูกสร้างโดยการใช้วิธีเลฑฑุบาต ซึ่งครั้งอดีตการสร้างวัดกำหนดว่าวัดนั้น ๆ จะได้อาณาเขตเท่าใดต้องทำพิธีปั้นดินเป็นก้อน ๆ แล้วขว้างออกไปเพื่อให้ได้อาณาเขต การวัดระยะทางเช่นนี้วัดจากคนขว้างจนถึงที่ก้อนดินตกเป็น 1 เลฑฑุบาต เนื่องจากเมื่อก่อนยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินนั้น ๆ จึงใช้วิธีนี้แทน วิธีนี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2) วัดถ้ำเทียนถวายเป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 13 ไร่ อาณาเขต ทิศเหนือจดเขาวัดถ้ำ ทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจดทางสาธารณะ มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 37 ตารางวา อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 14 เมตร ยาว 16 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2428 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กุฏิสงฆ์จำนวน 2 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลัง และตึก 1 หลัง วิหาร กว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2523 ศาลาบำเพ็ญกุศลจำนวน 1 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก นอกจากนี้มีฌาปนสถาน หอระฆัง โรงครัว และกุฏิเจ้าอาวาส ปูชณียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 50 นิ้ว สูง 80 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2545 พระประธานประจำศาลาการเปรียญปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 30 นิ้ว สูง 48 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2527
อ่านเพิ่มเติม
เรือนเก่าอดีตเจ้าเมืองอลอง (ขุนทิพย์ขุนทิพย์พิมลแห่งแขวงสุชลฉลอง)
ปัจจุบันเรือนเก่าหลังนี้หลงเหลือแค่ตอเสาที่สร้างจากไม้แกนขี้เหล็กทั้งต้น ชิ้นส่วนอื่น ๆ ของเรือนถูกรื้อไปสร้างบ้านหลังใหม่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ตั้งเรือนเก่าของขุนทิพย์
อ่านเพิ่มเติม
บ้านไม้กึ่งปูนของตระกูล นพเดช

บ้านหลังนี้เดิมที่เป็นบ้านไม้ยกพื้นสูง ไม้ที่สร้างบ้านถูกรื้อมาจากเรือนหลังเก่าของขุนทิพย์พิมล ปัจจุบันใต้ถุนบ้านปรับปรุงใหม่โดยก่ออิฐถือปูน เมื่อขึ้นไปด้านบนพบกับลานกว้าง ๆ มีห้องอยู่ด้านข้าง 2 ห้อง ห้องด้านข้างสร้างไว้สำหรับลูกสาว ส่วนลานกว้างไว้เป็นที่หลับนอนของลูกชาย ที่บ้านหลังนี้มีภูมิปัญญาการเจาะไม้กระดานไว้นอกชานบ้านให้เป็นช่องเพื่อใช้สำหรับปัสสาวะของผู้หญิงบนเรือน ห้องน้ำแยกออกจากตัวบ้าน มีครัวอยู่ใต้ถุนบ้าน

อ่านเพิ่มเติม